รับขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร นำเที่ยว ใบอนุญาตขาย ไพ่ ใบอนุญาตจัดตั้งโรงงาน รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

รับขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ

หลังจากจัดตั้งนิติบุคคลแล้ว ในการเริ่มต้นธุรกิจ ธุรกิจบางประเภทต้องขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องและได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานนั้นเสียก่อนจึงจะสามารถเริ่มดำเนินธุรกิจได้รับขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ซึ่งในแต่ละประเภทธุรกิจนั้นหน่วยงานที่ดูแล และออกใบอนุญาตก็จะแตกต่างกันออกไปตามประเภทธุรกิจนั้น ๆ รวมถึงขั้นตอนในการขอนุญาตก็มีความแตกต่างกันออกไป เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการนั้นได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามข้อกำหนดของกฎหมาย การขอรับใบอนุญาตการประกอบธุรกิจจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการที่เริ่มต้นธุรกิจ ให้การเริ่มต้นธุรกิจนั้นถูกต้อง ตามข้อกำหนดของกฏหมาย ไม่มีปัญหาในภายหลัง

กรีนโปร เคเอสพี ประกอบด้วยทีมงานที่มีประสบการณ์ ความรู้ และชำนาญในการรับขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ เพื่อช่วยผู้ประกอบการในการดำเนินการขอรับใบอนุญาตเป็นไปอย่างถูกต้องตามระเบียบ และข้อกำหนดของกฏหมายด้วยความสะดวกรวดเร็วในราคายุติธรรม ทำให้การเริ่มต้นธุรกิจของผู้ประกอบการนั้นเป็นไปด้วยความราบรื่น

ขอบเขตการให้บริการรับขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ

• รวบรวมข้อมูล และเอกสารเพื่อจัดเตรียมแบบฟอร์ม และเอกสารประกอบรับขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ
• ดำเนินการยื่นขอจดทะเบียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
• นำใบอนุญาตการประกอบธุรกิจจัดส่งให้ลูกค้าผู้ประกอบการ

ใบอนุญาตการประกอบธุรกิจต่าง ๆ

รับขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ร้านอาหารและจำหน่ายอาหาร (ขายอาหาร)

ผู้ประกอบการที่จะเปิดร้านอาหาร หรือขายอาหาร จะต้องมีการขออนุญาตใช้สถานที่เพื่อขาย ทำ ประกอบ ปรุง สะสมอาหาร ในสถานที่เอกชน
หลักเกณฑ์ในการขออนุญาตใช้สถานที่เพื่อขาย ทำ ประกอบ ปรุง สะสมอาหาร ในสถานที่เอกชน แบ่งออกเป็น 2 ประเภทดังนี้
1. ในกรณีที่มีพื้นที่เกิน 200 ตารางเมตร ซึ่งมิใช่เป็นการขายของในตลาดหรือการจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะ จะต้องดำเนินการขอใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหาร และสถานที่สะสมอาหาร
2. ในกรณีที่มีพื้นที่ไม่เกิน 200 ตารางเมตร ซึ่งมิใช่เป็นการขายของในตลาดหรือการจำหน่ายสินค้าในที่ หรือทางสาธารณะ จะต้องขอหนังสือรับรองการแจ้งการจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหาร และสถานที่สะสมอาหาร

รูปแบบการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจร้านอาหารหรือจำหน่ายอาหาร (ขายอาหาร) 
ผู้ประกอบการร้านอาหารหรือจำหน่ายอาหาร สามารถยื่นขอใบอนุญาตร้านอาหารหรือจำหน่ายอาหารได้ 2 กรณี ดังนี้

1. ยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจร้านอาหารหรือจำหน่ายอาหาร ในรูปแบบบุคคลธรรมดา โดยในกรณีนี้ผู้ประกอบการต้องมีการจดทะเบียนพาณิชย์หรือที่เรียกว่าจดทะเบียนการค้าเสียก่อน โดยทั้งนี้วัตถุประสงค์ในการจดทะเบียนพาณิชย์ต้องระบุว่าเป็นการประกอบกิจการร้านอาหาร หรือจำหน่ายอาหาร โดยสำเนาของใบทะเบียนพาณิชย์ จะเป็นเอกสารประกอบในการยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจร้านอาหารหรือจำหน่ายอาหาร

2. ยื่นขอในกรณีนิติบุคคล  ในกรณีที่ผู้ประกอบการต้องการยื่นคำขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจร้านอาหารหรือจำหน่ายอาหารในรูปนิติบุคคล หนังสือรับรองนิติบุคคลต้องระบุวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเกี่ยวข้องกับการจำหน่ายอาหาร หรือประกอบธุรกิจร้านอาหาร

ในกรณีที่ร้านอาหารหรือสถานที่จำหน่ายอาหารมีการจำหน่ายเครื่องดื่มประเภทที่มีแอลกอฮอล์ ได้แก่ สุรา เบียร์ และ ไวน์ นั้น ผู้ประกอบการต้องมี
การขอใบอนุญาตจำหน่ายสุรา (ใบอนุญาตขายสุรา) เพิ่มเติมด้วย

สถานที่ยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจร้านอาหารหรือจำหน่ายอาหาร (ขายอาหาร)
โดยต้องยื่นขออนุญาตจัดตั้งร้านอาหารต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบตามแบบฟอร์ม พร้อมเอกสารประกอบการขออนุญาต
ตามข้อกำหนดของหน่วยงานท้องถิ่นที่รับผิดชอบ 
1. ในกรณีสถานที่ตั้งอยู่ที่ กรุงเทพมหานคร ยื่นขอรับใบอนุญาตได้ที่สำนักงานเขตที่ร้านอาหารหรือสถานที่ขายอาหารตั้งอยู่ 
2. ในกรณีต่างจังหวัด ยื่นขอใบอนุญาตได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลที่ร้านอาหารหรือสถานที่ขายอาหารตั้งอยู่

ค่าธรรมเนียมในการขอใบอนุญาตร้านอาหารหรือจำหน่ายอาหาร

ค่าธรรมเนียมรัฐบาลในกรณีสถานที่จำหน่ายอาหารมีพื้นที่เกิน 200 ตารางเมตร ในการขอรับใบอนุญาตสถานที่จำหน่ายอาหาร

– ขนาดไม่เกิน 300 ตรม. ค่าธรรมเนียม 2,800 บาท
– พื้นที่เกิน 300 ตารางเมตร คิดเพิ่มตารางเมตรละ 1 บาท โดยให้คิดพื้นที่เป็นจำนวนเต็มปัดเศษทิ้งแต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 4,800 บาท

ค่าธรรมเนียมรัฐบาลในกรณีสถานที่จำหน่ายอาหารมีพื้นที่ไม่เกิน 200 ตารางเมตร ในการขอหนังสือรับรองการแจ้งการจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหาร

– ขนาดไม่เกิน 10 ตรม. ค่าธรรมเนียม 200 บาท
– พื้นที่เกิน 10 ตารางเมตร คิดเพิ่มตารางเมตรละ 10 บาท โดยให้คิดพื้นที่เป็นจำนวนเต็มปัดเศษทิ้งแต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 1,500 บาท
**ใบอนุญาตสถานที่จำหน่ายอาหาร หรือหนังสือรับรองการแจ้งการจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารมีอายุ 1ปี นับแต่วันที่ออกใบอนุญาต

รับขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จำหน่ายสินค้า เช่น สุรา ยาสูบ ไพ่

ในการประกอบธุรกิจขายสุรา ยาสูบ และไพ่นั้น ผู้ประกอบการต้องขอใบอนุญาตต่อกรมสรรพสามิตร รับใบอนุญาตและชำระค่าธรรมเนียม
ใบอนุญาต ก่อนประกอบธุรกิจดังกล่าว  ทั้งนี้ใบอนุญาตขายสุรา ยาสูบและไพ่  จะมีอายุหนึ่งปี โดยนับตั้วแต่วันที่ได้รับอนุญาต และสามารถ
ต่อใบอนุญาต ขายสุรา ยาสูบ และไพ่ ได้ก่อนล่วงหน้าก่อนใบอนุญาตนั้นหมดอายุ 90 วัน 
กฎหมายกำหนดโทษของการประกอบธุรกิจขายสุรา ยาสูบ และไพ่ โดยไม่มีใบอนุญาต ไม่แสดงใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผย หรือใช้ใบอนุญาตไม่ตรงกับสถานที่ระบุไว้ในใบอนุญาตนั้น  ผู้ฝ่าฝืนจะมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท.

ใบอนุญาตจำหน่ายสุรา (ใบอนุญาตขายเหล้า)

ใบอนุญาตจำหน่ายสุรามี 2 ประเภท

ใบอนุญาตจำหน่ายสุรา (ใบอนุญาตขายเหล้า) มี 2 ประเภท โดยค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจำหน่ายสุราจะแยกตามประเภทใบอนุญาตดังต่อไปนี้

1. ใบอนุญาตประเภทที่ 1 เป็นใบอนุญาตสำหรับการขายส่งสุราทุกชนิด โดยมีจำหน่ายเป็นจำนวนครั้งละสิบลิตรขึ้นไป 
โดยจะเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาตสำหรับใบอนุญาตประเภทที่ 1  ปีละ 5,500 บาท
2. ใบอนุญาตประเภทที่ 2 เป็นใบอนุญาตสำหรับการขายปลีกสุราทุกชนิด โดยจำหน่ายครั้งละต่ำกว่าสิบลิตร ซึ่งใบอนุญาตขายปลีกสุรา
จะแยกออกเป็น 2 ประเภทดังนี้
(1) สถานที่ที่ผู้ประกอบการขายปลีกสุรา มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะเสียค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตปีละ 2,200 บาท
(2) สถานที่ที่ผู้ประกอบการขายปลีกสุรา ไม่ได้มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะเสียค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตปีละ 330 บาท

รูปแบบการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจจำหน่ายสุรา (ใบอนุญาตขายเหล้า) แบ่งออกเป็น 2 กรณีดังนี้
1. ขอใบอนุญาตจำหน่ายสุรา (ใบอนุญาตขายเหล้า)  ในรูปแบบบุคคลธรรมดา
2. ขอใบอนุญาตจำหน่ายสุรา (ใบอนุญาตขายเหล้า) ในรูปแบบนิติบุคคล  

ผู้ประกอบการขายสุราที่จะยื่นขอใบอนุญาตขายสุรา (ใบอนุญาตขายเหล้า) นั้น ต้องไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตขายสุราเว้นแต่เวลาได้ล่วงพ้น
มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี

ข้อกำหนดในการจำหน่ายสุรา(ขายเหล้า)
– เวลาในการขายสุราหรือขายเหล้า จะจำหน่ายได้ในเวลาตั้งแต่ 11.00 น. – 14.00 น. และ 17.00 น. – 24.00 น.
– ห้ามขายสุราหรือขายเหล้า ในวันดังนี้ วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันอาสาฬหบูชา วันมาฆบูชา และวันวิสาขบูชา
– ห้ามขายสุราหรือขายเหล้าให้แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หรือผู้ที่มีอาการมึนเมาจนไม่สามารถครองสติได้
– ห้ามขายสุราหรือขายเหล้าโดยการใช้เครื่องขายแบบอัตโนมัติ เร่ขาย ลดราคา หรือทำการส่งเสริมการขาย

สถานที่จำหน่ายสุราต้องไม่เป็นสถานที่ดังต่อไปนี้
(1) ที่ตั้งสถานศึกษาที่จัดการศึกษาในระบบตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ รวมทั้งบริเวณที่ต่อเนื่องและติดกับสถานที่ดังกล่าว
(2) ที่ตั้งวัด มัสยิด วัดบาทหลวง หรือสถานที่ประกอบศาสนกิจในนิกายหรือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง รวมทั้งบริเวณที่ต่อเนื่องและติดกับสถานที่ดังกล่าว 
(3) ที่ตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งบริเวณที่ต่อเนื่องและติดกับสถานที่ดังกล่าว
(4) สถานที่ที่เคยเป็นสถานประกอบการขายสุราของผู้ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต เว้นแต่ได้พ้นกำหนดระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต
(ข้อ 1-4 เฉพาะการขายสุราประเภทที่ 2)
(5) สถานประกอบการขายเหล้าของผู้ที่ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตและอยู่ระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต
(6) สถานที่ต้องห้ามขายเหล้าตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือกฎหมายอื่น

ใบอนุญาตจำหน่ายยาสูบหรือยาเส้น

ใบอนุญาตจำหน่ายยาสูบหรือยาเส้น มี 3 ประเภทดังนี้

ประเภท 1 สำหรับการขายยาสูบ ครั้งละตั้งแต่ 1,000 มวนขึ้นไป โดยถ้าเป็นการขายยาเส้นครั้งละตั้งแต่ 2 กิโลกรัมขึ้นไป สำหรับยาเส้นปรุงหรือ
ยาเคี้ยวครั้งละตั้งแต่ 200 กรัมขึ้นไป
ประเภท 2 สำหรับการขายปลีกยาสูบครั้งละไม่เกิน 1,000 มวน โดยถ้าเป็นการขายยาเส้นครั้งละไม่เกิน 2 กิโลกรัม สำหรับยาเส้นปรุงหรือยาเคี้ยว
ครั้งละไม่เกิน 200 กรัม
ประเภท 3 สำหรับการขายผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดอื่น

ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจำหน่ายยาสูบหรือยาเส้น มีอัตราดังต่อไปนี้
ประเภทที่ 1  
– สำหรับผู้ขายบุหรี่ ซิกาแรต และบุหรี่ซิการ์ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ปีละ 1,200 บาท
– สำหรับผู้ขายยาเคี้ยว ยาเส้นปรุง ยาเส้น และบุหรี่อื่น 
(ก) สำหรับผู้ขายยาเส้นที่ผู้ขายเป็นผู้เพาะปลูกต้นยาสูบและผลิตเอง ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ปีละ 100 บาท
(ข) สำหรับผู้ขายยาเส้นอื่น นอกจาก (ก) ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตปีละ 500 บาท
ประเภทที่ 2  
– สำหรับผู้ขายบุหรี่ ซิกาแรต และบุหรี่ซิการ์ ในสถานที่ดังต่อไปนี้
(ก) คลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากรตามกฏหมายศุลกากร ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ปีละ 500 บาท
(ข) สถานที่ขายที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตปีละ 500 บาท
(ค) สถานที่ขายที่ผู้ประกอบการมิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตปีละ 100 บาท
– สำหรับผู้ขายยาเคี้ยว ยาเส้นปรุง ยาเส้น และบุหรี่อื่น ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตปีละ 100 บาท
ประเภทที่ 3 เป็นการขายผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดอื่น ใบอนุญาตปีละ 1,200 บาท

ข้อกำหนดในการจำหน่ายยาสูบ (ขายบุหรี่)
– การขายยาสูบต้องขายตามขนาดซองที่ได้เสียภาษีแล้ว โดยห้ามทำการแบ่งขาย ถ้าฝ่าฝืนต้องระวางโทษ โดยปรับไม่เกิน 5,000 บาท
– กำหนดให้ห้ามขายยาสูบให้แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และห้ามใช้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ขายยาสูบ
– กำหนดให้ห้ามขายยาสูบ โดยใช้เครื่องขายอัตโนมัติ ห้ามเร่ขาย ห้ามขายผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์
– ห้ามจำหน่ายยาสูบโดยมีรายการส่งเสริมการขาย ลด แลก แจก แถมให้หรือแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่น

สถานที่จำหน่ายยาสูบหรือขายยาสูบ ต้องไม่เป็นสถานที่ ดังต่อไปนี้

(1) เป็นสถานที่หรือบริเวณที่ห้ามขายยาสูบตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ
(2) เป็นที่ตั้งของสถานศึกษาที่จัดการศึกษาในระบบตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ รวมทั้งบริเวณต่อเนื่องและติดกับสถานศึกษาดังกล่าว 
(3) เป็นที่ตั้งวัด มัสยิด วัดบาทหลวง หรือสถานที่ประกอบศาสนกิจในนิกาย หรือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง รวมทั้งบริเวณต่อเนื่องและติดกับสถานที่ดังกล่าว (สำหรับข้อ 2 และข้อ 3 เฉพาะการขายยาสูบประเภทที่ 2 บุหรี่ซิกาแรต)
(4) เป็นสถานที่ที่ผู้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตขายยาสูบเคยใช้ในการขายยาสูบ เว้นแต่เวลา ได้ล่วงพ้นมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
(5) เป็นสถานที่ที่ผู้ที่อยู่ระหว่างถูกพักใช้ใบอนุญาตขายยาสูบใช้ในการขายยาสูบ

ผู้ประกอบการที่ต้องการขออนุญาตจำหน่ายยาสูบหรือขายบุหรี่ ต้องไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตขายยาสูบ/ขายบุหรี่ เว้นเสียแต่ว่าเวลาได้ล่วงพ้นมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี

ใบอนุญาตขายไพ่

ใบอนุญาตขายไพ่แบ่งออกเป็น 2 ประเภทดังนี้

ประเภท 1 การขายไพ่ ครั้งหนึ่งจำนวนตั้งแต่ 40 สำรับขึ้นไป โดยมีค่าธรรมเนียมใบอนุญาตปีละ 1,200 บาท
ประเภท 2 การขายไพ่ ครั้งหนึ่งต่ำกว่า 40 สำรับ โดยมีค่าธรรมเนียมแบ่งเป็น 3 ประเภทดังต่อไปนี้
1. คลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากรตามกฏหมายศุลกากร ใบอนุญาต ปีละ 500 บาท
2. สถานที่ขายที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตปีละ 500 บาท
3. สถานที่ขายที่ผู้ประกอบการมิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตปีละ 100 บาท

ข้อควรรู้สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตขายสุรา เหล้า ยาสูบ และไพ่ 

– ในการเปลี่ยนแปลงสถานที่ตั้ง หรือมีการโอนใบอนุญาตนั้นต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้มีอำนาจในการออกใบอนุญาต
– ในกรณีผู้ได้รับอนุญาตนั้นไม่ปฏิบัติ หรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฏหมาย กฏกระทรวง ประกาศ หรือข้อกำหนดในใบอนุญาต ผู้ได้รับใบอนุญาตจะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตไม่เกิน 6 เดือน
– จะมีการเพิกถอนใบอนุญาต ถ้าหากเกิดกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตสองครั้งขึ้นไป และมีเหตุที่จะต้องถูกพักใบอนุญาตอีก หรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฏหมาย กฏกระทรวง ประกาศ หรือข้อกำหนดในใบอนุญาต ซึ่งการไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องนั้นก่อให้เกิดความเสียหาย
ที่ร้ายแรง
– ในกรณีที่ผู้ประกอบการถูกเพิกถอนใบอนุญาต เวลาจะต้องล่วงพ้นมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้รับคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต จึงจะขอ
ใบอนุญาตใหม่ได้

รับขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ นำเที่ยว

ธุรกิจนำเที่ยว คือ ธุรกิจเกี่ยวกับการนำนักท่องเที่ยวเดินทางไปท่องเที่ยวหรือเดินทางไปเพื่อวัตถุประสงค์อื่น โดยจัดให้มีบริการ หรือการอำนวยความสะดวกอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง อันได้แก่ สถานที่พัก อาหาร มัคคุเทศก์

ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะทำธุรกิจนำเที่ยวต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวจากนายทะเบียนธุรกิจนำเที่ยว เมื่อได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวจึงจะสามารถประกอบกิจการธุรกิจนำเที่ยวได้ 
ในการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวนั้นแบ่งผู้ขอรับใบอนุญาตเป็น 2 ประเภทดังนี้

1. ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่เป็นบุคคลธรรมดา
2. ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่เป็นนิติบุคคล โดยหนังสือรับรองนิติบุคคลจะต้องระบุวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการนำเที่ยว 

คุณสมบัติผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว
1. ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวกรณีบุคคลธรรมดา
– ต้องมีสัญชาติไทย และอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ในวันที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว
– ต้องมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย
– ต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรืออยู่ในระหว่างถูกพิทักษ์ทรัพย์
– ต้องไม่เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
– ต้องไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว หรือใบอนุญาตมัคคุเทศก์ และไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ
นำเที่ยว หรือใบอนุญาตมัคคุเทศก์ แต่ถ้าเคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตต้องถูกเพิกถอนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันยื่นคำขอรับใบอนุญาต
ประกอบธุรกิจนำเที่ยว
2. ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวกรณีนิติบุคคล
– ต้องมีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย โดยมีวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลเพื่อประกอบกิจการด้านการนำเที่ยว โดยถ้าเป็นห้างหุ้นส่วน กำหนดให้ผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดต้องมีสัญชาติไทย กรณีเป็นบริษัทจำกัด ทุนจดทะเบียนของบริษัทไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ต้องเป็นของบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย และ กรรมการของบริษัทเกินกึ่งหนึ่งต้องมีสัญชาติไทย
– ต้องมีสำนักงานอยู่ในราชอาณาจักรไทย
–  กรรมการหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนนิติบุคคลต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังนี้
1.  มีสัญชาติไทย และอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ในวันที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว
2.  มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย
3. ต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรืออยู่ในระหว่างถูกพิทักษ์ทรัพย์
4. ต้องไม่เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
5. ต้องไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว หรือใบอนุญาตมัคคุเทศก์ และไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ
นำเที่ยว หรือใบอนุญาตมัคคุเทศก์ แต่ถ้าเคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตนำเที่ยว ต้องถูกเพิกถอนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว

โดยทั้งนี้ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวจะต้องวางเงินหลักประกันในการประกอบธุรกิจนำเที่ยว ทั้งนี้ธุรกิจนำเที่ยวแต่ละประเภทจะมีอัตราเงินหลักประกันแตกต่างกันไป ดังต่อไปนี้
1. วางเงินหลักประกัน 3,000 บาท สำหรับการประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภทเฉพาะพื้นที่ สามารถประกอบธุรกิจนำเที่ยวได้ เฉพาะในจังหวัดที่จดทะเบียน และจังหวัดข้างเคียง ซึ่งอยู่ในพื้นที่เดียวกันเท่านั้น (นำเที่ยวประเภทนี้ไม่สามารถขายทัวร์ออนไลน์ได้)
2.วางเงินหลักประกัน 15,000 บาท สำหรับการประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภทนำเที่ยวภายในประเทศ โดยสามารถประกอบธุรกิจนำเที่ยวในประเทศได้ทุกจังหวัด แต่จำกัดไม่ให้นำเที่ยวไปยังต่างประเทศ (นำเที่ยวประเภทนี้ไม่สามารถขายทัวร์ออนไลน์ได้)
3. วางเงินหลักประกัน 30,000 บาท สำหรับการประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภทนำเที่ยวจากต่างประเทศ โดยสามารถประกอบธุรกิจนำเที่ยวในประเทศได้ทุกจังหวัด แต่จำกัดไม่ให้นำเที่ยวไปยังต่างประเทศ (นำเที่ยวประเภทนี้สามารถขายทัวร์ออนไลน์ได้)
4. วางเงินหลักประกัน 60,000 บาท สำหรับการประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภททั่วไป โดยสามารถประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ (นำเที่ยวประเภทนี้สามารถขายทัวร์ออนไลน์ได้)

ในการยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องจัดให้มีการทำประกันภัยสำหรับอุบัติเหตุ ให้แก่นักท่องเที่ยว มัคคุเทศน์ และผู้นำเที่ยวในระหว่างเดินทางท่องเที่ยว โดยมีจำนวนเงินเอาประกันภัยกรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะหรือทุพลลภาพไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านบาทต่อคน
และกรณีบาดเจ็บไม่ต่ำกว่าห้าแสนบาทต่อคน และต้องมีอายุกรมธรรม์ไม่น้อยกว่าหนึ่งปี นับแต่วันยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว

รับขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ เปิดสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ
(ขอใบอนุญาตร้านนวด/ขอใบอนุญาตร้านสปา)

“สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ” ตามพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 นั้นหมายความว่า สถานที่ที่ตั้งขึ้นเพื่อดำเนินกิจการ
ดังต่อไปนี้
1. กิจการสปาบริการที่เกี่ยวกับการดูแล และเสริมสร้างสุขภาพโดยวิธีการบำบัดด้วยน้ำ และการนวดร่างกายเป็นหลัก ประกอบกับบริการอื่น
2. กิจการนวดเพื่อสุขภาพ
3. กิจการนวดเพื่อเสริมความงาม
ผู้ประกอบกิจการเพื่อสุขภาพดังกล่าวข้างต้นจะต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพจากกระทรวงสาธารณสุขก่อนเปิดกิจการ ใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ มีอายุห้าปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต โดยสถานประกอบการต้องแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพไว้ในที่เปิดเผย และเห็นได้ง่าย ณ สถานประกอบการเพื่อสุขภาพที่ระบุไว้ในใบอนุญาต การขอต่อใบอนุญาตสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ต้องยื่นคำขอก่อนวันที่ใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพจะหมดอายุ

ทั้งนี้ผู้จัดการหรือผู้ดำเนินงาน และผู้ให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพจะต้องขอใบอนุญาตเป็นผู้ดำเนินการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพด้วยเช่นกัน

การขอใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (ขอใบอนุญาตร้านนวด หรือขอใบอนุญาตร้านสปา)
หลักเกณฑ์ข้อกำหนดเบื้องต้นในการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (ขอใบอนุญาตร้านนวด หรือขอใบอนุญาตร้านสปา)
1. ผู้ขอรับใบอนุญาตจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือเป็นนิติบุคคลก็ได้

2. ผู้ขอรับใบอนุญาต หรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล (ในกรณีนิติบุคคล) ในการประกอบกิจการร้านนวดหรือร้านสปา ซึ่งถือว่าเป็นสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ต้องมีคุณสมบัติด้งต่อไปนี้
2.1 ต้องเป็นผู้มีอายุ ไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
2.2 ต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
2.3 ต้องไม่เป็นบุคคลวิกลจริต คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
2.4 ต้องไม่เป็นผู้เคยต้องคําพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทําผิดในความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวล กฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับ
ยาเสพติด ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือ ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม
การค้าประเวณี
2.5 ต้องไม่เป็นผู้เจ็บป่วยด้วยโรคติดต่ออันเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคพิษสุราเรื้อรัง หรือติดยาเสพติดให้โทษ
2.6 ต้องไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ
2.7 ต้องไม่เป็นผู้เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ และยังไม่พ้นกําหนดสองปีนับถึงวันยื่นคําขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ

3. ในกรณีเป็นกิจการสปา ต้องมีผู้ดำเนินการที่มีใบอนุญาต โดยคุณสมบัติผู้ดำเนินการมีดังต่อนี้
3.1 มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
3.2 ได้รับวุฒิบัตรหรือประกาศนียบัตรด้านการบริการเพื่อสุขภาพที่ได้รับการรับรองจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
3.3 ผ่านการทดสอบและประเมินความรู้ความสามารถจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
3.4 ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม เป็นบุคคลวิกลจริต คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
3.5 ต้องไม่เป็นผู้เคยต้องคําพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทําผิดในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือความผิด เกี่ยวกับทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา
ความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด ความผิดตามกฎหมาย ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วย
การป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี เป็นผู้เจ็บป่วยด้วยโรคติดต่ออันเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคพิษสุราเรื้อรัง หรือติดยาเสพติดให้โทษ
3.6 ต้องไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตเป็นผู้ดําเนินการ
3.7 ต้องไม่เป็นผู้เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ดําเนินการและยังไม่พ้นกําหนดหนึ่งปีนับถึงวันยื่นคําขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ดําเนินการ

4. ต้องมีผู้ให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนต่อผู้อนุญาตคือ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข โดยทั้งนี้คุณสมบัติของผู้ให้บริการมีดังต่อไปนี้
4.1 ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์
4.2 ต้องได้รับวุฒิบัตรหรือประกาศนียบัตรด้านการบริการเพื่อสุขภาพที่ได้รับการรับรองจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
4.3 ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม คือเป็นบุคคลวิกลจริต คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถและเป็นผู้เคยต้องคําพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็น
ผู้กระทําผิดในความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี เว้นแต่ได้พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปีก่อนวันยื่นคําขอขึ้นทะเบียน
4.4 ต้องไม่เป็นผู้เจ็บป่วยด้วยโรคติดต่ออันเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคพิษสุราเรื้อรัง หรือติดยาเสพติดให้โทษ

5. สถานประกอบการนั้นต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กฏหมายกำหนดครบถ้วนทุกประการ

ค่าธรรมเนียมรัฐบาลของใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพมี ดังต่อไปนี้

1. ใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทกิจการสปา (ร้านสปา) แบ่งตามพื้นที่การให้บริการดังต่อไปนี้
– กรณีพื้นที่การให้บริการไม่เกิน 100 ตารางเมตร ฉบับละ 1,000 บาท
– กรณีพื้นที่การให้บริการเกิน 100 ตารางเมตร แต่ไม่เกิน 200 ตารางเมตร ฉบับละ 3,000 บาท
– กรณีพื้นที่การให้บริการเกิน 200 ตารางเมตร แต่ไม่เกิน 400 ตารางเมตร ฉบับละ 6,000 บาท
– กรณีพื้นที่การให้บริการเกิน 400 ตารางเมตร ฉบับละ 10,000 บาท

2. ใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทกิจการนวดเพื่อสุขภาพ (ร้านนวด) หรือเพื่อเสริมความงาม
– กรณีพื้นที่การให้บริการไม่เกิน 100 ตารางเมตร ฉบับละ 500 บาท
– กรณีพื้นที่การให้บริการเกิน 100 ตารางเมตรแต่ไม่เกิน 200 ตารางเมตร ฉบับละ 1,500 บาท
– กรณีพื้นที่การให้บริการเกิน 200 ตารางเมตร แต่ไม่เกิน 400 ตารางเมตร ฉบับละ 3,000 บาท
– กรณีพื้นที่การให้บริการเกิน 400 ตารางเมตร ฉบับละ 5,000 บาท

3. ค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพรายปีสําหรับสถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทกิจการสปา ปีละ 1,000 บาท
4. ค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพรายปีสําหรับสถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทกิจการนวดเพื่อสุขภาพหรือ
เพื่อเสริมความงามปีละ 500 บาท
ผู้ประกอบการต้องชําระค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพรายปีในปีแรก พร้อมกับชําระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตตามประเภทกิจการ โดยถือว่าวันที่ชําระค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นวันครบกําหนดชําระค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการ และให้ชำระรายปีในปีต่อ ๆ ไปตลอดระยะเวลาที่ยังประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพอยู่

อายุใบอนุญาต 

อายุของใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทร้านสปา และร้านนวดมีอายุ 5 ปี

รับขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ค้าของเก่า

ความหมายของการค้าของเก่า มีความหมายคือทรัพย์ที่ทำการเสนอขาย แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายโดยประการอื่นอย่างทรัพย์ที่ใช้แล้ว โดยรวมถึงของโบราณด้วย  โดยขยายความดังต่อไปนี้
– ทรัพย์ คือวัตถุที่มีรูปร่างซึ่งเมื่อนำไปเสนอขาย แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายอย่างทรัพย์ที่ใช้แล้วถือว่าเป็นการค้าของเก่า ทั้งนี้รวมถึงของใหม่ที่ทิ้งไว้
นานๆ ด้วย
– โบราณวัตถุ คือทรัพย์ที่เป็นของโบราณ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หรือเป็นสิ่งประดิษฐ์รวมทั้ง สิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของโบราณสถาน
โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติด้วย
 
สถานที่ที่ยื่นขอใบอนุญาตค้าของเก่า
– กรณีที่ตั้งสถานประกอบกิจการค้าของเก่าอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ยื่นที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย 
– กรณีที่ตั้งอยู่ต่างจังหวัด ยื่นขอใบอนุญาตที่องค์การบริการส่วนตำบลที่สถานประกอบการตั้งอยู่
 
สิ่งที่ผู้ประกอบกิจการค้าของเก่าต้องทราบในการประกอบธุรกิจค้าของเก่า
– ผู้ที่ประกอบกิจการค้าของเก่าต้องขออนุญาต จากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องก่อนดำเนินธุรกิจ
– ใบอนุญาตค้าของเก่านั้นจะไม่สามารถโอนเปลี่ยนมือผู้ได้รับอนุญาตได้ ใบอนุญาตค้าของเก่านั้นจะเป็นใบอนุญาตเฉพาะตัว ยกเว้นในกรณีนิติบุคคลจะสามารถโอนได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าพนักงานพิจารณาตามที่เห็นสมควร 
– ใบอนุญาตค้าของเก่าจะหมดอายุในวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี โดยผู้ได้รับใบอนุญาตค้าของเก่าต้องดำเนินการขอต่ออายุใบอนุญาตก่อน
ใบอนุญาตเดิมจะหมดอายุ โดยผู้ได้รับใบอนุญาตสามารถยื่นต่ออายุได้ก่อนใบอนุญาตหมดอายุล่วงหน้า 90 วัน
– การค้าของเก่านั้นต้องทำการค้าของเก่าในสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตค้าของเก่าเท่านั้น ซึ่งใบอนุญาตค้าของเก่าหนึ่งใบจะใช้ได้เฉพาะร้านค้าของเก่าหนึ่งร้านค้าเท่านั้น 
– ผู้ประกอบการธุรกิจค้าของเก่าที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการค้าของเก่าจะมีโทษตามกฎหมาย

ประเภทของใบอนุญาตค้าของเก่า

  1. ค้าของเก่าประเภทที่เป็นโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุ โดยความหมายของนิยามเป็นไปตามกฏหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และ
    พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
  2. ค้าของเก่าประเภทที่เป็น เงิน ทอง นาก เพชรพลอย หรืออัญมณี
  3. ค้าของเก่าประเภทที่เป็น รถยนต์ ทั้งนี้ตามกฏหมายว่าด้วยรถยนต์
  4. ค้าของเก่าประเภทอื่นๆ ได้แก่ พระเครื่อง นาฬิกา  โทรศัพท์เคลื่อนที่ กล้องถ่ายรูป เครื่องใช้สำนักงาน คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องดนตรี เครื่องเสียง  ไม้เรือนเก่า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องหนัง เครื่องจักรเก่า จักรเย็บผ้า รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่รถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์ กระทะล้อรถยต์ แสตมป์ เหรียญ ธนบัตร ของหลุดจำนำ กระดาษ เศษเหล็ก แสตนเลส ถัง และพลาสติก เป็นต้น

เงื่อนไขในการรับขอใบอนุญาตค้าของเก่า

  1. ผู้ขอใบอนุญาตประกอบกิจการค้าของเก่า ต้องมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยนับถึงวันที่ยื่นคำขอใบอนุญาตค้าของเก่า
  2. ผู้ขอใบอนุญาตประกอบกิจการค้าของเก่าต้องมีความรู้หนังสือไทยพออ่านออกเขียนได้
  3. ผู้ขอใบอนุญาตประกอบกิจการค้าของเก่าต้องเป็นผู้ไม่เคยต้องโทษจำคุกในความผิดเกี่ยวกับเงินตรา ความผิดเกี่ยวกับดวงตราแสตมป์และตั๋ว
    ความผิดเกี่ยวกับการค้า ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ กรรโชกทรัพย์ ลักทรัพย์ รีดเอาทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอกทรัพย์ และรับของโจรตามประมวลกฏหมายอาญา

หน้าที่และสิ่งที่ผู้ได้รับใบอนุญาตค้าของเก่าต้องปฎิบัติ

  1. ผู้ได้รับใบอนุญาตค้าของเก่าต้องอำนวยความสะดวกแก่นายตรวจที่ทำการตรวจตามหน้าที่
  2. เมื่อใบอนุญาตค้าของเก่าสูญหายต้องยื่นคำร้องภายใน 7 วัน เพื่อขอรับใบแทนใบเดิมที่สูญหาย
  3. ผู้ได้รับใบอนุญาตค้าของเก่าต้องยื่นคำร้องขออนุญาตย้ายสถานที่ประกอบการล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 10 วันต่อเจ้าหน้าที่ โดยจะเหมือนกับการขออนุญาตค้าของเก่าครั้งใหม่
  4. หากผู้ได้รับใบอนุญาตค้าของเก่าประสงค์จะเลิกประกอบอาชีพค้าของเก่า ต้องแจ้งเลิกก่อนวันที่ใบอนุญาตค้าของเก่าจะหมดอายุ พร้อมทั้งนำ
    ใบอนุญาตค้าของเก่าเดิมส่งคืนแก่เจ้าหน้าที่ด้วย
  5. ผู้ได้รับใบอนุญาตค้าของเก่าต้องแสดงชื่อผู้ได้รับใบอนุญาตค้าของเก่า และคำว่าผู้ค้าของเก่า ไว้ ณ ที่ทำการค้าของตนและแสดงใบอนุญาต
    ค้าของเก่าไว้ในที่เห็นได้ชัดแจ้ง
  6. ผู้ได้รับใบอนุญาตค้าของเก่า ต้องมีสมุดบัญชีสำหรับการค้าของตนและจดรายการทรัพย์ที่ซื้อ-ขาย ทุกชิ้นทุกรายโดยละเอียด โดยมีเจ้าพนักงาน
    ผู้ออกใบอนุญาตค้าของเก่าลงนามและประทับตราประจำตำแหน่งในสมุด
  7. ผู้ได้รับใบอนุญาตค้าของเก่าต้องแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือนายตรวจทันที เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าทรัพย์ที่มีผู้นำเสนอหรือโอนให้นั้นเป็นทรัพย์
    ที่ได้มาโดยทุจริต
  8. ผู้ได้รับใบอนุญาตค้าของเก่าต้องทำเลขลำดับเป็นเครื่องหมายปิดไว้ที่ของให้ตรงกับเลขลำดับในสมุดบัญชี เพื่อความสะดวกในการสำรวจตรวจสอบ
  9. ผู้ได้รับใบอนุญาตค้าของเก่าต้องอย่าเอาเปรียบลูกค้าในเรื่องราคา และปกปิดความจริงประวัติของทรัพย์ที่ขาย

อัตราค่าธรรมเนียมรัฐบาลในการขอใบอนุญาตค้าของเก่า โดยแบ่งตามประเภทของเก่าดังนี้

 
1.  ค่าธรรมเนียมค้าของเก่าประเภทโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุ                          ปีละ 12,500 บาท
2.  ค่าธรรมเนียมค้าของเก่าประเภทเพชร พลอย ทอง นาก เงิน หรือ อัญมณี    ปีละ 10,000 บาท
3. ค่าธรรมเนียมค้าของเก่าประเภทรถยนต์ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์            ปีละ    7,500 บาท
4. ค่าธรรมเนียมค้าของเก่าประเภทอื่นๆ ไม่อยู่ใน (1) (2) และ (3)                        ปีละ    5,000 บาท

อายุใบอนุญาตค้าของเก่า

ใบอนุญาตค้าของเก่ามีอายุ 1 ปี  จะหมดอายุภายในวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี

รับขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ตลาดแบบตรง (จดทะเบียนตลาดแบบตรงกับสคบ.)

จดทะเบียนตลาดแบบตรงกับ สคบ.
ผู้ประกอบการที่มีการจำหน่ายสินค้าทางอินเตอร์เน็ตหรือออนไลน์ (E-commerce)  ในกรณีบุคคลธรรมดานอกจากจะต้องจดทะเบียนพาณิชย์
อิเลกทรอนิกส์แล้ว ถ้ารายได้เกินกว่าปีละ 1.8 ล้านบาท จำเป็นต้องจดทะเบียนเป็นผู้ทำการตลาดแบบตรงและวางหลักประกันกับทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)  ส่วนในกรณีนิติบุคคลถึงแม้ยอดขายไม่เกิน 1.8 ล้านบาทก็ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ทำการตลาดแบบตรงและวางหลักประกันกับทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โดยทันที

ความหมายของ “การตลาดแบบตรง” ตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2560 หมายถึงการทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอ ขายสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภคซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทางและมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละราย
ตอบกลับเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจ ตลาดแบบตรงนั้น
ลักษณะของการขายที่ถือว่าเป็นการตลาดแบบตรง
1. มีเว็บไซต์ขายสินค้า ซึ่งสินค้านั้นอาจจะเป็นสินค้าของเจ้าของเว็บไซต์เอง หรือขายสินค้าของบุคคลอื่นผ่านเว็บไซต์
2. ขายผ่านสื่อโทรทัศน์ดาวเทียม และมีการให้สั่งซื้อสินค้าผ่านรายการ โดยโทรศัพท์เข้าไปสั่งซื้อ
3. ขายของออนไลน์ ทั้งที่ขายผ่านช่องทางเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก แอพพลิเคชั่นไลน์ หรือแอพพลิเคชั่นอื่นๆ
ธุรกิจรูปแบบการขายสินค้าและบริการที่ไม่ถือว่าเป็นการตลาดแบบตรง
1. ผู้ที่ขายสินค้าและบริการบุคคลธรรมดา ที่มีรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไม่เกิน 1 ล้าน 8 แสนบาทต่อปี
2. ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
3. การขายสินค้าและบริการของวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน
4. การขายสินค้าและบริการของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์
การวางหลักประกันในการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงกับ สคบ. มีการกำหนดวงเงินหลักประกันดังต่อไปนี้
1. ยื่นคำขอรายใหม่
1.1 กรณีบุคคลธรรมดา ต้องวางหลักประกัน จำนวนเงิน 5,000 บาท
1.2 กรณีนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ต้องวางหลักประกัน จำนวนเงิน 25,000 บาท
2. ผู้จดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงกับ สคบ.แล้ว
2.1 กรณีมีรายได้ไม่เกิน 25 ล้านบาทต่อปี
     – ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา ต้องวางหลักประกัน จำนวนเงิน 5,000 บาท
     – ถ้าเป็นนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ต้องวางหลักประกัน จำนวนเงิน 25,000 บาท
2.2 กรณีมีรายได้เกิน 25 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อปี ต้องวางหลักประกัน จำนวนเงิน 50,000 บาท
2.3 กรณีมีรายได้เกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี ต้องวางหลักประกัน จำนวนเงิน 100,000 บาท
2.4 กรณีมีรายได้เกิน 100 ล้านบาทต่อปี ต้องวางหลักประกัน จำนวนเงิน 200,000 บาท

บทกำหนดโทษ
หากผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าออนไลน์แล้วเข้าข่ายเป็นผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ไม่ได้จดทะเบียนประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงกับ
ทางสคบ. จะมีโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีการปรับเพิ่มอีกวันละ 10,000 บาทจนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน 

รับขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ โรงแรม

โรงแรม หมายความว่า สถานที่พักที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจ เพื่อให้บริการที่พักชั่วคราวสำหรับคนเดินทางหรือบุคคลอื่นใดโดยมีค่าตอบแทน ทั้งนี้ไม่รวมถึง
(1) สถานที่พักที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการพักชั่วคราว โดยไม่ใช่เป็นการหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งกัน เช่น ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ การกุศล หรือการศึกษา
(2) สถานที่พักที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการที่พัก โดยคิดค่าบริการเป็นรายเดือน
ตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 มาตรา 15 ได้บัญญัติไว้ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบธุรกิจโรงแรม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน” ดังนั้นผู้ที่จะประกอบธุรกิจโรงแรมจึงจำเป็นที่จะต้องขออนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยก่อนประกอบกิจการ
ประเภทของโรงแรม แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังต่อไปนี้

(1) โรงแรมประเภท 1 คือโรงแรมที่ให้บริการเฉพาะห้องพัก โดยมีห้องพักไม่เกิน 50 ห้อง แต่ละห้องต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 8 ตารางเมตร โดยไม่รวมห้องน้ำ ห้องส้วม และระเบียงพัก โดยห้องนำต้องถูกสุขลักษณะเพียงพอ
(2) โรงแรมประเภท 2 คือโรงแรมที่ให้บริการห้องพักและห้องอาหาร หรือสถานที่สำหรับบริการอาหารหรือสถานที่สำหรับประกอบอาหาร โดยแต่ละห้องต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 8 ตารางเมตร โดยไม่รวมห้องน้ำ ห้องส้วม และระเบียงพัก โดยห้องนำต้องถูกสุขลักษณะเพียงพอ
(3) โรงแรมประเภท 3 คือโรงแรมที่ให้บริการห้องพัก ห้องอาหารหรือสถานที่สำหรับบริการอาหารหรือสถานที่สำหรับประกอบอาหาร และสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ หรือห้องประชุมสัมมนา โดยแต่ละห้องต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 14 ตารางเมตร โดยไม่รวมห้องน้ำ ห้องส้วม และระเบียงพัก โดยทุกห้องต้องมีห้องนำ และห้องส้วมที่ถูกสุขลักษณะ
(4) โรงแรมประเภท 4 คือโรงแรมที่ให้บริการห้องพัก ห้องอาหาร หรือสถานที่สำหรับบริการอาหารหรือสถานที่สำหรับประกอบอาหาร สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ และห้องประชุมสัมมนา โดยแต่ละห้องต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 14 ตารางเมตร โดยไม่รวมห้องน้ำ ห้องส้วม และระเบียงพัก โดยทุกห้องต้องมีห้องนำ และห้องส้วมที่ถูกสุขลักษณะ

โรงแรมประเภท 3 และประเภท 4 กรณีมีห้องพักไม่เกิน 80 ห้อง ห้ามมีสถานบริการ ยกเว้นอยู่ในเขตพื้นที่อนุญาต

รับขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จัดตั้งโรงงาน

โรงงาน หมายความว่า อาคาร สถานที่ หรือยานพาหนะที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวม
ตั้งแต่ห้าสิบแรงม้าหรือกำลังเทียบเท่าตั้งแต่ห้าสิบแรงม้าขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่ห้าสิบคนขึ้นไป โดยใช้เครื่องจักร หรือไม่ก็ตามเพื่อประกอบกิจการโรงงาน ทั้งนี้ ตามประเภท หรือชนิดของโรงงานที่กำหนดในกฎกระทรวง
กฎกระทรวง ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 แบ่งโรงงานออกเป็น 3 จำพวก ตามประเภท หรือชนิดของโรงงานดังนี้
1. โรงงานจำพวกที่ 1 ได้แก่ โรงงานประเภทชนิด และขนาดที่สามารถประกอบกิจการโรงงานได้ทันทีตาม ความประสงค์ของผู้ประกอบกิจการโรงงาน โดยมีเครื่องจักรไม่เกิน 20 แรงม้า และคนงานไม่เกิน 20 คน
2. โรงงานจำพวกที่ 2 ได้แก่ โรงงานประเภท ชนิด และขนาด ที่เมื่อจะประกอบกิจการโรงงานต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อนประกอบกิจการ
3. โรงงานจำพวกที่ 3 คือ ได้แก่โรงงานประเภท ชนิด และขนาดที่การตั้งโรงงานจะต้องได้รับใบอนุญาตก่อนจึงจะดำเนินการได้ โดยมีเครื่องจักรเกิน 50 แรงม้า และคนงานเกิน 50 คน

ทำเลที่ตั้งประกอบกิจการโรงงาน

1. โรงงานจำพวกที่ 1 และ 2 ห้ามประกอบกิจการโรงงานภายในระยะ 50 เมตร จากเขตติดต่อสาธารณสถาน ได้แก่ โรงเรียน วัด โรงพยาบาล สถานที่ราชการ แหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
2. โรงงานจำพวกที่ 3 ห้ามประกอบกิจการโรงงานในระยะ 100 เมตร จากเขตติดต่อสาธารณสถาน และต้องอยู่ในสถานที่ และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีบริเวณเพียงพอ ไม่ก่อให้เกิดอันตราย เหตุรำคาญ หรือความเสียหายต่อบุคคล หรือทรัพย์สินของผู้อื่น

ทำเลที่ตั้งประกอบกิจการโรงงาน สามารถแบ่งได้ดังนี้

1. พื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม – ในกรณีที่โรงงานประกอบกิจการในพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการจะต้องยื่นคำขอที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเรียงลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้คือ ยื่นคำขอใช้ที่ดิน ยื่นคำขอทำสัญญาซื้อ/เช่าซื้อ หรือเช่าที่ดินอาคาร และทำสัญญาใช้ที่ดิน ยื่นคำขออนุญาตก่อสร้าง หนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคาร ยื่นคำขอใบรับรองการก่อสร้างอาคาร ยื่นคำขอแจ้งเริ่มประกอบอุตสาหกรรม ยื่นคำขอประกอบอุตสาหกรรม ยื่นคำขอใบอนุญาตประกอบอุตสาหกรรม
2. พื้นที่ในเขตประกอบอุตสาหกรรม – ในกรณีที่โรงงานประกอบกิจการในพื้นที่ของเขตประกอบการอุตสาหกรรมผู้ประกอบการไม่ต้องยื่นคำขออนุญาต สามารถประกอบกิจการได้ทันที แตต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฏกระทรวงทั้งเรื่องที่ตั้งโรงงาน ลักษณะอาคาร เครื่องจักร การควบคุมการปล่อยของเสีย ฯลฯ แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการรายปีตามอัตราค่าธรรมเนียมในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535
3. พื้นที่ในเขตชุมชนอุตสาหกรรม
4. พื้นที่เอกเทศ
โดยกรณีโรงงานประกอบกิจการในพื้นที่ชุมชนอุตสาหกรรม หรือ พื้นที่เอกเทศ ผู้ประกอบการจะต้องยื่นคำขอที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม
– ถ้าเป็นโรงงานจำพวกที่ 2 สามารถตั้งโรงงานได้ทันทีแต่ต้องเป็นไปตามกฏกระทรวง ฉบับที่ 2 พ.ศ 2535 ข้อ 1 โดยเรียงลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้คือ แจ้งประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 ตามแบบ ร.ง. 1 ชำระค่าธรรมเนียมรายปี รับใบแจ้งประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 หลังจากนั้นจึงสามารถเริ่มประกอบกิจการได้ โดยทั้งนี้ต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปีทุกปี ในวันครบรอบวันเริ่มประกอบกิจการ
– ถ้าเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 เรียงลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้คือ ยื่นคำขออนุญาตแบบ ร.ง. 3 โดยเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบสถานที่ภายใน 30 วัน และตรวจสอบให้เสร็จภายใน 50 วัน และจะแจ้งผลการพิจารณาภายใน 10 วัน

ใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลที่ไม่รับผู้ป่วยค้างคืน (คลินิก)

ผู้ขอรับอนุญาต เป็นผู้ประกอบกิจการ สามารถขอยื่นเปิดคลินิกตามลักษณะของสถานพยาบาล และลักษณะการให้บริการ ดังนี้

1. คลินิกเวชกรรม ดำเนินการโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
2. คลินิกเวชกรรมเฉพาะทาง ดำเนินการโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ได้รับวุฒิบัตร หรือหนังสืออนุมัติจากแพทยสภาในสาขานั้น
3. คลินิกทันตกรรมดำเนินการโดยผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม
4. คลินิกทันตกรรมเฉพาะทาง ดำเนินการโดยผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมที่ได้รับวุฒิบัตร หรือหนังสืออนุมัติจากทันตแพทยสภาในสาขานั้น
5. คลินิกการพยาบาล และการผดุงครรภ์ดำเนินการโดยผู้ประกอบการวิชาชีพการพยาบาล และผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่งยกเว้นการทำคลอด
6. คลินิกกายภาพบำบัดดำเนินการโดยผู้ประกอบวิชาชีพซึ่งเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขากายภาพบำบัด
7. คลินิกเทคนิคการแพทย์ดำเนินการโดยผู้ประกอบวิชาชีพซึ่งเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาเทคนิคการแพย์
8. คลินิกการแพทย์แผนไทย ดำเนินการโดยผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทย ประเภทเวชกรรมไทย
9. คลินิกการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ดำเนินการโดยผู้ประกอบวิชาชีพซึ่งเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์
10. สหคลินิก จัดให้บริการตาม 1 ถึง 9 สองลักษณะขึ้นไป ดำเนินการโดย ผู้ประกอบวิชาชีพ วิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่งที่ให้บริการในสถานพยาบาลนั้น

ชื่อคลินิก

1. คำนำหน้าชื่อ หรือต่อท้ายชื่อคลินิก ต้องประกอบด้วยประเภท และลักษณะของคลินิกที่ขออนุญาต เช่น นพพรคลินิกเวชกรรม หรือ คลินิกเวชกรรมนพพร
2. ต้องไม่ใช้คำ หรือข้อความที่มีลักษณะชักชวน หรือโอ้อวดเกินจริง หรืออาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการประกอบกิจการ
3. ไม่สื่อความหมายอ้างอิงสถาบันพระมหากษัตริย์ เว้นแต่ได้รับพระบรมราชานุญาต หรือพระราชานุญาต
4. คลินิกที่ตั้งภายในอำเภอ หรือเขต หรือจังหวัดเดียวกัน จะต้องไม่ใช้ชื่อซ้ำกันยกเว้น
– ผู้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการการสถานพยาบาลเป็นบุคคล หรือนิติบุคคลเดียวกัน
– มีหนังสือยินยอมจากผู้ให้ได้รับอนุญาตเดิมให้ใช้ซื่อซ้ำกันได้ แต่ต้องมีอักษรหรือหมายเลขเรียงลำดับ หรือที่ตั้งสถานที่ ต่อท้ายชื่อคลินิก เช่น คลินิกเวชกรรมนพพร สาขารามคำแหง หรือคลินิกเวชกรรมนพพร สาขา 2
พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 มาตรา 16 กำหนดไว้ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบกิจการสถานพยาบาล เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต” และมาตรา 24 กำหนดไว้ว่า “ห้ามมิให้บุคคลใดดำเนินการสถานพยาบาล เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาต”
ดังนั้นผู้ประกอบการท่านใดต้องการจะเปิดคลินิก จะต้องยื่นขออนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลกับกระทรวงสาธารณสุขก่อนประกอบกิจการ มิเช่นนั้นจะมีโทษตามกฎหมาย

รับขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จัดตั้งโรงเรียนเอกชนนอกระบบ

ข้อกำหนด และรายละเอียดเบื้องต้นในการจัดตั้งโรงเรียนนอกระบบ

1. ชื่อ – ของโรงเรียนนอกระบบต้องใช้อักษรไทย โดยต้องมีคําว่า “โรงเรียน” ประกอบชื่อด้วย หรืออาจมีอักษรต่างประเทศกํากับด้วยก็ได้ ในกรณีที่โรงเรียนนอกระบบมีชื่อเป็นอักษรต่างประเทศด้วย ต้องอ่านแล้วได้สําเนียงสอดคล้องกับภาษาไทยหรือแปลแล้วได้ความหมายเช่นเดียวกับชื่อภาษาไทย และมีคําที่แปลแล้วมีความหมายว่าโรงเรียน (School) นําหน้าหรือตามหลังชื่อของโรงเรียนนอกระบบ
2. ตรา – ต้องมีตราประจำโรงเรียนโดยตราโรงเรียนนอกระบบต้องเป็นลายโปร่งและเป็นรูปวงกลมสองวงซ้อนกัน วงนอกมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 4.5 เซนติเมตรวงในมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 3.5 เซนติเมตร ภายในวงกลมเป็นสัญลักษณ์ของโรงเรียนนอกระบบ ระหว่างเส้นรอบวงของวงกลมทั้งสอง ด้านบนให้เขียนชื่อเต็มของโรงเรียนนอกระบบ ส่วนด้านล่างให้เขียนชื่ออําเภอ และจังหวัดที่โรงเรียนนอกระบบตั้งอยู่
3. อาคาร – เป็นเอกเทศหรือกรณีเป็นอาคารร่วมต้องแยกเป็นสัดส่วนไม่ปะปนกับกิจการอื่น
เป็นอาคารที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างหรือต่อเติมอาคารจากทางราชการให้ใช้เป็นอาคารเรียน หรือเปลี่ยนการใช้อาคารที่จัดตั้งโรงเรียนนอกระบบ และต้องจัดมาตรการป้องกันอัคคีภัยในโรงเรียนด้วย
พื้นที่ที่ใช้จัดต้องโรงเรียนนอกระบบ ต้องติดต่อเป็นผืนเดียวกัน ไม่ปะปนกับกิจการอื่น และมีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 100 ตารางเมตร ในกรณีที่โรงเรียนนอกระบบเปิดสอนตั้งแต่สองประเภทขึ้นไป ต้องมีพื้นที่ใช้สอย
สําหรับแต่ละประเภทไม่น้อยกว่า 100 ตารางเมตร เว้นแต่หลักสูตรที่โรงเรียนนอกระบบเปิดสอนมีระยะเวลาเรียนเกิน 600 ชั่วโมง ต้องมีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่าประเภทละ 200 ตารางเมตร
ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องจัด ให้มีห้องธุรการ หรือห้องพักครู หรือพื้นที่ผู้สอน หรือห้องพักผ่อนสําหรับนักเรียน น้ำดื่ม และห้องส้วมสําหรับชาย และหญิงแยกต่างหากเป็นสัดส่วนให้เพียงพอกับจํานวนนักเรียน
4. การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนนอกระบบสําหรับห้องเรียนภาคทฤษฎีต้องปฏิบัติ
1. การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ครูหรือผู้สอน ต้องมีจํานวนนักเรียนไม่เกิน 45 คนต่อห้องเรียน
2. การจัดการเรียนการสอนโดยใช้สื่อการเรียนการสอน ต้องมีจํานวนนักเรียนไม่เกิน 90 คนต่อห้องเรียน และต้องมีเจ้าหน้าที่ประจําห้องเรียนทําหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยและควบคุมการใช้สื่อการเรียนการสอนอย่างน้อยหนึ่งคน
3. การจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการโดยมีทั้งครู หรือผู้สอน และสื่อการเรียนการสอนในกรณีที่มีนักเรียนเกิน 90 คน ต้องมีเจ้าหน้าที่ประจําห้องเรียนทําหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยและควบคุมการใช้สื่อการเรียนการสอนอย่างน้อย 1 คน
5. บุคคลากร – ควรกำหนดตัวบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับกิจการโรงเรียนไว้ว่า ใครเป็นผู้รับใบอนุญาต (เจ้าของ) เป็นผู้บริหาร รวมทั้ง ครู และผู้สอนประจำวิชาต่าง ๆ โดยคำนึงถึงคุณสมบัติ และความรู้ความสามารถเป็นสำคัญ พร้อมทั้งบุคลากรอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินกิจการโรงเรียน

บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับกิจการโรงเรียน
5.1 ผู้รับใบอนุญาต (เจ้าของ)
ผู้ขอรับใบอนุญาตหรือผู้ขอจัดตั้งโรงเรียนเอกชนนอกระบบ แบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ
1 ผู้ขอรับใบอนุญาต เป็นบุคคลธรรมดา
2. ผู้ขอรับใบอนุญาต เป็นนิติบุคคลหากดำเนินกิจการในรูปแบบนิติบุคคล ต้องกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษา และต้องแต่งตั้งผู้ลงนามแทนเพียง 1 คนเท่านั้น

5.2 ผู้บริหาร ต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้
– มีสัญชาติไทย
– อายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
– มีความรู้ดังต่อไปนี้
ก. ผู้บริหารโรงเรียนที่เปิดสอนประเภทกวดวิชา ต้องมีความรู้ไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา และต้องมีประสบการณ์เคยทำการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
ข. ผู้บริหารโรงเรียนที่เปิดสอนประเภทวิชาชีพ ประเภทศิลปะ และกีฬา และประเภทสร้างเสริมทักษะชีวิต ต้องมีความรู้ไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี และมีประสบการณ์เคยทำงาน ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องหรือทำการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี
– ไม่เป็นโรคต้องห้ามที่กำหนดในกฎกระทรวง
– มีความประพฤติเรียบร้อยไม่บกพร่องในศีลธรรมอันดี
– ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
– ไม่เคยถูกออกจากราชการโดยมีความผิด เว้นแต่ได้ถูกออกจากราชการมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี ก่อนวันแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหาร
– ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ผู้อนุญาต เห็นว่าไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ และพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีก่อนวันแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารโรงเรียน
– ไม่ฝักใฝ่หรือเลื่อมใสในลัทธิเป็นภัยต่อความมั่นคง หรือความปลอดภัยของประเทศ
หรือขัดต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ

ผู้ขอรับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียน ต้องจัดทำหนังสือแจ้งรายละเอียดว่าจะแต่งตั้งใครเป็นผู้บริหารโรงเรียนพร้อมทั้งแนบรายละเอียดคุณสมบัติ เช่น สำเนาวุฒิการศึกษา สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน แบบสัญญาจ้าง ใบรับรองแพทย์ หนังสือรับรองประสบการณ์ในการทำงาน

5.3 ครูและผู้สอน
ครู ต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพครูตามกฎหมายว่าด้วยสภาครู และบุคลากรทางการศึกษา
ผู้สอน จะต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
– อายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์
– ต้องมีความรู้ตามระเบียบกำหนด
– มีความประพฤติเรียบร้อย ไม่บกพร่องในศีลธรรมอันดี
– ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
– ไม่เคยถูกออกจากราชการโดยมีความผิด เว้นแต่ได้ถูกออกจากราชการมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี ก่อนวันแต่งตั้งให้เป็นผู้สอน
– ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ผู้อนุญาตเห็นว่าไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปีก่อนวันแต่งตั้งให้เป็นผู้สอน
– ไม่ฝักใฝ่หรือเลื่อมใสในลัทธิเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยของประเทศ หรือขัดต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ
– ไม่เป็นโรคต้องห้ามที่กำหนดในกฎกระทรวง

รับขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ หอพัก

ตามพระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. 2558 แบ่งหอพักออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ หอพักชาย และหอพักหญิงนอกจากนี้ยังแบ่งลักษณะของหอพักออกเป็น 2 แบบด้วยกัน คือ
• หอพักสถานศึกษา
• หอพักเอกชน
ผู้ที่ประกอบกิจการหอพักสถานศึกษา และหอพักเอกชนจะต้องยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการหอพัก จากกระทรวงมหาดไทย โดยผู้ที่ประกอบกิจการหอพักเอกชนจะต้องมีใบอนุญาตผู้จัดการหอพักเอกชนอีกใบหนึ่งด้วย

ผู้ใดประสงค์ประกอบกิจการหอพักเอกชนต้องยื่นคำขอต่อนายทะเบียนพร้อมด้วยเอกสารและหลักฐานดังต่อไปนี้
– สำเนาใบอนุญาตให้จัดตั้งสถานศึกษา
– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาหนังสือเดินทางหรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว พร้อมสำเนาทะเบียนหรือเอกสารที่แสดงภูมิลำเนาของคนต่างด้าวสำหรับบุคคลธรรมดา หรือสำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล ซึ่งแสดงรายการเกี่ยวกับชื่อวัตถุประสงค์ที่ตั้งสำนักงานและผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคล
– สำเนาหนังสือแต่งตั้งผู้แทนนิติบุคคล
– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาหนังสือเดินทางหรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของผู้แทนนิติบุคคล
– สำเนาทะเบียนบ้านหรือเอกสารที่แสดงถึงภูมิลำเนาของคนต่างด้าวของผู้แทนนิติบุคคล
– หลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของอาคารสถานที่ที่จะตั้งหอพัก หรือเอกสารแสดงว่าผู้ขอรับใบอนุญาตมีสิทธิใช้อาคารตั้งหอพัก
– ระเบียบประจำหอพัก
– แผนที่โดยสังเขปแสดงที่ตั้งของหอพัก
– ใบอนุญาตหรือใบรับแจ้งก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารเพื่อใช้เป็นหอพักตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือรับรองการตรวจสภาพอาคาร ว่ามีความมั่นคง แข็งแรง และปลอดภัยเพื่อใช้เป็นหอพักโดยผู้ประกอบวิชชาชีพวิศวกรรมควบคุม หรือผู้ประกอบ
วิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นด้วย
– แผนผังบริเวณ แบบแปลน และรายการประกอบแบบแปลน

ใบอนุญาตนำเข้า-ส่งออก

ผู้ประกอบการที่ต้องการจะประกอบธุรกิจนำเข้า-ส่งออก จะต้องลงทะเบียนเป็นผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก และยื่นขอมีบัตรประจำตัวผู้ส่งออก-นำเข้า กับกรมการค้าต่างประเทศ ในกรณีที่ก่อนจึงจะสามารถนำเข้าหรือส่งออกสินค้าได้ ในกรณีที่สินค้าที่ต้องการส่งออกนั้นเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานส่งออก จดทะเบียนเป็นผู้ทำการค้าขาออกซึ่งสินค้ามาตรฐาน ผู้ประกอบการจะต้องขออนุญาตกับกรมการค้าต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสินค้านั้น ๆ ด้วย ยกตัวอย่าง เช่น หากต้องการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าเกษตร ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการขออนุญาตกับกรมวิชาการเกษตร เป็นต้น

บริการรับขอ อย.

บริการยื่นคำขออนุญาตด้านอาหาร

ผู้ประกอบกิจการที่ต้องได้รับอนุญาตก่อนจึงจะดำเนินการได้มีดังนี้
– ผู้ผลิตอาหารเพื่อจำหน่าย
– ผู้นำเข้าอาหารเพื่อจำหน่าย
– ผู้ประสงค์จะโฆษณาคุณประโยชน์
คุณภาพ หรือสรรพคุณอาหาร ทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ทางฉายภาพ ภาพยนต์ หรือทางหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อื่น หรือด้วยวิธีการอื่นใด เพื่อประโยชน์ในทางการค้า
ประเภทผลิตภัณฑ์อาหารแบ่งเป็น 10 กลุ่มดังนี้
1. กล่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
2. กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับทารกและเด็ก
3. กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก
4. กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารมีวัตถุประสงค์พิเศษ
5. กลุ่มผลิตภัณฑ์นมดัดแปลงสำหรับทารก นมดัดแปลงสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็ก อาหารทารก และอาหารสูตรต่อเนื่องสำหรับทารก และเด็กเล็ก
6. กลุ่มวัตถุเจือปนอาหาร
7. กลุ่มวัตถุที่ใช้รักษาคุณภาพของอาหาร
8. กลุ่มวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล(อาหารสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก)
9. กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร 7 ประเภท ได้แก่ นมโค นมปรุงแต่ง นมเปรี้ยว ผลิตภัณฑ์ของนม ไอศกรีม เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท และอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท
10. กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารประเภทอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากอาหารที่กล่าวข้างต้น

บริการขออนุญาตผลิตภัณฑ์ยา

– การขึ้นทะเบียนตำรับยา
– การขออนุญาตผลิตหรือนำส่งยาเข้ามาในราชอาณาจักรไม่ว่าจะเป็น ยาแผนปัจจุบัน หรือยาแผนโบราณ
– การขอนุญาตโฆษณาขายยา
– การขออนุญาตเปิดร้านขายยาแผนปัจจุบัน

รับขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จดแจ้งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง

ประเภทผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
1. ใช้เพื่อความสะอาดในชีวิตประจำวัน เช่นสบู่ แชมพู ยาสีฟ้น เจลล้างมือ ทิชชู่เปียก
2. ใช้เพื่อตกแต่งผิวกาย/เส้นผมให้สวยงาม เช่นผลิตภัณฑ์แต่งหน้า ลิปสติก สีทาเล็บ ผลิตภัณฑ์ย้อมผม จัดแต่งทรงผม
3. ผลิตภัณฑ์บำรุง และกันแดด
4. น้ำหอม ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย
รายละเอียดที่ต้องแจ้ง
– ชื่อการค้า และชื่อเครื่องสำอาง
– วัตถุประสงค์ในการใช้ และวิธีการใช้
– สารทุกชนิดที่เป็นส่วนผสม
เมื่อได้รับใบจดแจ้งเครื่องสำอางเรียบร้อยแล้ว ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าจะต้อง
1. ผลิตหรือนำเข้าเครื่องสำอางให้ตรงตามที่ได้จดแจ้งไว้
2. จัดทำฉลากภาษาไทยที่มีข้อความอันจำเป็นครบถ้วนก่อนวางขาย (ไม่ต้องขอนุญาตจาก อย. ก่อน)
3. โฆษณาด้วยข้อความที่เป็นความจริง มีเอกสารหลักฐานพร้อมพิสูจน์ไม่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด (ไม่ต้องขออนุญตจาก อย. ก่อน)

รับขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ด้านเครื่องมือแพทย์

– จดทะเบียนสถานประกอบการผลิตเครื่องมือแพทย์
– จดทะเบียนสถานประกอบการผู้นำเข้าเครื่องมือแพทย์
– จดทะเบียนจำหน่ายเครื่องมือแพทย์
– การขอนุญาตโฆษณาเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์

รับขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ขออนุญาต อย. ด้านวัตถุอันตราย

– ขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย
– ขอใบอนุญาตวัตถุอันตรายทุกประเภท
– ขอใบอนุญาตผลิต นำเข้า วัตถุอันตรายกรีนโปร เคเอสพี ให้บริการในการขอ อย. ให้แก่ผู้ประกอบการที่ผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ อาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ รวมทั้งวัตถุอันตราย เพื่อให้การขออนุญาตดังกล่าวเป็นไปอย่างถูกต้อง สะดวก ราบรื่น และรวดเร็ว เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้เรามีบริการรับทำวีซ่า


สนใจบริการรับขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ

ติดต่อ: บริษัท กรีนโปร เคเอสพี คอนซัลติ้ง จำกัด
43 ถ. สาทรใต้ แขวง ยานนาวา เขต สาทร กรุงเทพมหานคร 10120
โทร : 02 210 0281, 02 210 0282
มือถือ : 094 864 9799084 360 4656
LINE ID : @greenproksp
E-mail : info.th@greenproksp.com

Add Friend